วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

พระแม่เจ้าจามเทวีกับวัดปงยางคก

วัดปงยางคก ตั้งอยู่ที่ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง โดยมีประวัติคือประมาณ พ.ศ. 1206 พระแม่เจ้าจามเทวี ราชธิดากรุงละโว้ (ลพบุรี) ได้ยกกองทัพขึ้นมาครอง เมืองหริภุญไชย (ลำพูน) และราว พ.ศ. 1224 ได้ให้ มหันตยศ ราชบุตรองค์ที่หนึ่ง ครองเมืองหริภุญไชยแทนและให้ราชบุตรองค์ที่สอง คือ อนันตยศ มาสร้างและครองเมืองเขลางค์ นคร (ลำปาง)
ต่อมาราว พ.ศ.1243 พระแม่เจ้าจามเทวีเสด็จออกจากลำพูน เพื่อมาเยี่ยมเยืยนอนันตยศ ผู้ราชบุตรในนครลำปาง ได้มาถึง ณ ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง เป็นที่รื่นรมย์ จึงสร้างเมืองลำลอง พัก ณ ที่แห่งนั้น เมืองนั้นต่อมาได้ชื่อว่า "เวียงรมณีย์" (เมืองตาล)
ปัจจุบันนี้เป็นเมืองร้าง มีแต่คูดินตั้งอยู่ระหว่างดอยขุนตาลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอ ห้างฉัตร ประมาณ 2 ก.ม. ขณะที่พักอยู่ที่เวียงมณีย์นั้น ได้สร้างฉัตรทองคำสำหรับจะไปบูชาพระธาตุลำปางหลวง ณ ที่ใช้ช่างสร้างฉัตร ในเวลาต่อมาเรียกว่า บ้านห้างฉัตร อันเป็นนามของอำเภอห้างฉัตร ในปัจจุบันนี้


เมื่อสร้างฉัตรทองคำเสร็จแล้ว ก็ทรงช้างพระที่นั่ง เดินไปตามเส้นทาง พอไปถึง ณ ที่แห่งหนึ่งปรากฏอัศจรรย์ ช้างพระที่นั่งทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงในท่าคารวะ พระแม่เจ้าเห็น เป็นอัศจรรย์จึงพักพล ณ ที่นั้น ตกกลางคืนจึงอธิฐานว่า ณ ที่นี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ขอให้ปรากฏปาฏิหาริย์ขึ้น ขาดคำพระดำรัสของพระแม่เจ้า ก็ปรากฏแสงฉัพพรรณรังสีแห่งพระบรม สารีริกธาตุพวยพุ่งขึ้น ณ ที่ จอมปลวกแห่งหนึ่ง จึงทรงให้ปลูกวิหารจามเทวีรอบจอมปลวกไว้ด้วยมณฑปปราสาทตลอดจนสร้างรูปจ๊างนบ ไว้หน้าวิหาร เป็นรูปช้างทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงขึ้นเหนือหัวในท่าคารวะและปลูกไม้ศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้พันธุ์มาจากลังกาทวีปไว้พร้อมสรรพ ต่อมา ณ ที่แห่งนี้จึงเรียกว่า "บ้านปงจ๊างนบ" ต่อมาหลายร้อยปี นามนี้ก็ได้เพี้ยนไป เป็น "ปงยางคก"
วัดปงยางคกนี้ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะเป็นถิ่นกำเนิดของเจ้าหนานติ๊บจ๊าง (เจ้าพระยาสุรวฤาชัยสงคราม) วีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร ผู้กู้อิสระภาพจาก พม่าข้าศึก อันเป็นต้นตระกูลของเจ้าผู้ครองนครในภาคเหนือมาตั้งแต่อดีต อีกประการหนึ่งก่อนที่เจ้าหนานติ๊บจ๊างจะได้ปราบดาภิเษกเป็นเจ้าพระยาสุรวฤาชัยสงคราม ขึ้นปกครอง เขลางค์นครลำปางพระองค์ก็ได้เคยศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดปงยางคกนี้มาก่อนจึงถือว่าเป็นวัดประวัติศาสตร์ของลานนาไทยเราที่มีความสำคัญยิ่งที่เดียว

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร มุงด้วยแป้นไม้เกล็ด แต่ในปัจจุบันนี้มุงด้วยดินขอเกล็ด เนื่องจากแป้นไม้เกล็ดได้ผุกร่อนไปตาม การเวลา (เพราะเป็นเวลาพันกว่าปีมาแล้ว) วิหารนี้เป็นวิหารขนาดเล็ก ลักษณะทั่วไปของวิหารไม่เหมือนกับวิหารในสมัยปัจจุบัน เป็นวิหารโถงทำด้วยไม้ ตอนล่างเปิดโล่งตลอดไม่มี ประตูและหน้าต่าง ตอนสุดท้ายของวิหารมีผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบสามด้าน ล้อมกู่พระเจ้าหรือโขงพระเจ้า (คือซุ้มปราสาทเรือนยอดก่อนอิฐก๋วมพระประธานเอาไว้) ลักษณะของการ ก่อสร้างเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมแบบลานนา ยุคหริภุญไชยสกุลช่างเขลางค์ (ซึ่งต่างกับสถาปัตยกรรมภาคกลาง) หลังคาสามชั้น เป็นวิหารไม้ที่มีความสวยงามมาก เป็นแบบฉบับของลักษณะสถาปัตยกรรมภาคเหนือ มีฐานพระวิหารสูงจากพื้นดินหนึ่งฟุต เดิมคงสูงประมาณสามศอกเศษ แต่เนื่องจากมีน้ำหลากพาดินจากที่อื่นมาท่วมทับถมทุกปีเป็นเวลาพันกว่าปีมา แ ล้ว อีกประการหนึ่งจากการขนทรายเข้าวัดตามประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย จึงทำให้ฐานพระวิหารสูงหลือเพียงหนึ่งฟุต โครงสร้างภายในทั้งหมดทุกชิ้นที่เห็น แต่งลายรูปต่าง ๆ ตามรูปพื้นที่ไม้ที่รองรับด้วยลายเขียนน้ำรักปิดทองบนพื้นสีแดงเช่นรูปลายกระถางดอกไม้บูชาพระ ลายกระหนกเครือเถาว์ เทพยดา ลายดาว ลายเลขาคณิต และรูปอื่น ๆ อีกมาก เสาพระวิหารประดับด้วยลายเขียนศิลปะแบบพื้นเมืองที่มีความสำคัญยิ่งเพราะเขียนด้วยรักปิดทอง(ซึ่งต่างจากวิหารทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นภาพเขียนสีที่เรียกว่าลายน้ำแต้ม) ถือว่า เป็นจิตรกรรมเสาวิหารที่สวยงามลวดลายละเอียดประณีตวิจิตรบรรจง
ต่อมาทางราชบัณฑิตยสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร ก็ได้สำรวจขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่และล้ำค่าที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งมีความสำคัญในฐานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยอันเนื่องจากเจ้าหนานติ๊บจ๊างคือบรรพบุรุษเจ้าครองนครในแคว้นลานนาไทยสมัยก่อนเป็นผู้ที่ร่วมมือกับทางกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ รวบรวมดินแดนที่เคยเป็นแคว้นลานนาในอดีต ผนวกเข้ากับดินแดนของเมืองหลวงไทยสมัยนั้นอย่างถาวร ดังนั้นจึง อาจกล่าวได้ว่า การที่ประเทศไทยมีขอบเขตการปกครองกว้างขวางเช่นในปัจจุบันก็เนื่องจากเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของเจ้าหนานติ๊บจ๊างผู้นี้ด้วย


ที่มา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำปาง ถนนวัดม่อนจำศีล ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง 52000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น